โบราณว่า ไม่ค่อยอ่านหนังสือจึงถูกกระดาษบาด

โบราณว่า ไม่ค่อยอ่านหนังสือจึงถูกกระดาษบาด แต่ปัจจุบันว่าเปิดหน้ากระดาษไม่ระวังมากกว่าจึงได้แผล  แม้จะเป็นแผลเล็กๆ ไม่ได้ลึกมาก แต่หลายคนคงมีประสบการณ์กับบาดแผลถูกกระดาษบาด  และยังคงสงสัยว่า ทำไมแผลจากการถูกกระดาษบาดนั้นถึงได้รู้สึกเจ็บแปลบได้มากขนาดนี้?
       ที่มา : http://www.cosmopolitan.com/
ทำความเข้าใจประสาทรับความรู้สึก
          Cortical  Homunculus เป็นแบบจำลองทางกายภาพของร่างกายมนุษย์ ซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ของขนาดของสมองส่วน cortex กับเขตความรู้สึกต่าง ๆ บนร่างกายของมนุษย์   โดยสมองส่วนสำคัญเกี่ยวกับระบบรับความรู้สึกทางกายของมนุษย์ หรือคอร์เทกซ์รับความรู้สึกทางกายปฐมภูมิ (primary somatosensory cortex) จะตั้งอยู่บริเวณรอยนูนหลังร่องกลาง (postcentral  gyrus) ของสมอง  ซึ่งเป็นเขตรับสัญญาณความรู้สึกหลักของระบบรับความรู้สึกทางกาย (somatosensory system) โดย "Cortical Homunculus” จะเป็นแผนผังที่ช่วยแสดงให้เห็นว่า คอร์เทกซ์ส่วนใดเป็นตัวแทนของเขตความรู้สึกส่วนใดในร่างกาย

 

ภาพที่ 2 :ภาพแสดง Cortical Homunculus แบบจำลองทางกายภาพของร่างกายมนุษย์
ซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ของขนาดของสมองส่วน cortex กับเขตความรู้สึกต่าง ๆ บนร่างกายของมนุษย์
ที่มา : https://en.wikipedia.org

ภาพที่ 3 :ภาพแสดงตำแหน่ง primary motor  area และ primary somatosensory area ของ cerebral cortex
ที่มา : http://www.schoolbag.info
         จากภาพส่วนของ somatosensory area  จะเห็นว่าบริเวณของริมฝีปากและมือจะมีขนาดใหญ่  เนื่องจากเซลล์ประสาทที่ประมวลข้อมูลที่มาจากเขตบริเวณนั้นนั้นมีจำนวนมากกว่าเขตอื่น ๆ จึงทำให้ในอวัยวะดังกล่าวสามารถรับความรู้สึกที่ละเอียดได้มากกว่าอวัยวะส่วนอื่น ๆ
         เนื่องจากระบบรับความรู้สึกทางกาย (somatosensory system) ประกอบด้วยตัวรับความรู้สึก (sensory receptor) และศูนย์ประมวลผลต่าง ๆ มากมาย เพื่อสามารถรับตัวกระตุ้นได้หลายรูปแบบ รวมทั้งสัมผัส อุณหภูมิ และ Nociceptor  ซึ่งเป็นตัวรับที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่สร้างความเสียหายซึ่งเกี่ยวข้องกับการก่อให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวด
ภาพที่ 4 :  Nociceptor
ที่มา : Wikipedia.com
ทำไมกระดาษบาดจึงรู้สึกเจ็บมากกว่า?
          จากการศึกษาของด๊อกเตอร์ Hayley Goldbach  แพทย์ผิวหนังจากมหาวิทยาลัย UCLA ประเทศสหรัฐอเมริกา อธิบายว่า บริเวณปลายนิ้วนอกจากจะเป็นบริเวณที่รับความรู้สึกละเอียดได้มากกว่าบริเวณอื่นแล้ว ยังเป็นอีกบริเวณหนึ่งที่มีตัวรับความรู้สึกต่อความเจ็บปวดหรือ nocicertor อยู่มาก ซึ่งนั่นเป็นกลไกหนึ่งในการป้องกันตัวเองของร่างกาย
          ขอบกระดาษที่เรามองเห็นด้วยตาเปล่าว่ามีขอบที่เรียบเนียน เป็นเส้นตรงราวกลับใบมีด แท้จริงแล้วเมื่อขยายดูในบริเวณดังกล่าวแล้ว ขอบกระดาษเหล่านั้นกลับมีลักษณะคล้ายใบเลื่อยมากกว่าใบมีด ซึ่งเมื่อมันได้เปิดผิวหนังของคุณแล้ว จะทิ้งรอยหยักเหล่านั้นไว้ในบาดแผล และนั่นจะทำให้เรารู้สึกเจ็บมากกว่าแผลที่เป็นขอบเรียบจากใบมีดโกนหรือใบมีดเสียอีก
          แพทย์ผิวหนังท่านนี้ยังได้อธิบายต่ออีกว่า การที่บาดแผลจากการถูกกระดาษบาดรู้สึกเจ็บมากกว่าการถูกของมีคมอย่างอื่นบาดลึกกว่า นั่นเป็นเพราะเมื่อมีเลือดออกจากบาดแผลลึก ร่างกายมนุษย์จะมีกลไกในการห้ามเลือด จนแผลตกสะเก็ด และพัฒนาการรักษาตัวเองภายใต้ผิวหนังบริเวณนั้น  แต่แผลจากการถูกกระดาษบาดนั้นไม่ได้รับการรักษาแบบเดียวกันกับกลไกดังกล่าว เพราะบริเวณผิวหนังที่เปิดจากกระดาษเป็นแผลตื้นๆ  ที่ตัวรับความเจ็บปวดสามารถส่งสัญญาณไปยังสมองได้ และก็ยังคงสัมผัสกับสิ่งต่างๆ ที่คุณจับต้อง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คุณรู้สึกเจ็บปวดอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ถ้าหากไม่อยากรู้สึกเจ็บแปลบๆ ที่มือตลอดทั้งวันก็ควรระมัดระวังกระดาษแผ่นบางๆ แต่ร้ายกาจนี้ไว้
 
แหล่งที่มา
Cortical homunculus. สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2560. จาก https://en.wikipedia.org/wiki/Cortical_homunculus.
Nociceptor. สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2560. จาก https://en.wikipedia.org/wiki/Nociceptor.
The science behind why paper cuts hurt so much. สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2560. จาก www.sciencealert.com/here-s-the-science-of-why-paper-cuts-hurt-so-much.
Why paper cuts hurt so much. สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2560. จาก www.bbc.com/future/story/20160902-why-paper-cuts-hurt-so-much.
The nervous system. สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2560. จาก http://schoolbag.info/biology/humans/9.html.

ความคิดเห็น